การปูกระเบื้องนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ หรือไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็สามารถทำได้ทั้งหมด แต่การปูกระเบื้องให้ออกมาสวยงาม และมีคุณภาพนั้นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทั้งเทคนิค และประสบการณ์ร่วม รายละเอียดเล็กน้อยนั้นสำคัญมาก การปูกระเบื้องที่ถูกวิธีจะช่วยให้ผิวกระเบื้องหลังปูไม่ว่าจะเป็นส่วนของพื้น หรือผนังออกมาเรียบเนียนสวยงาม ใช้งานได้ยาวนาน และที่สำคัญคือปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน การใช้อุปกรณ์อย่าง ตัวปรับระดับ ปูนกาว และยาแนว อย่างถูกวิธี ยิ่งช่วยทำให้การปูกระเบื้องนั้นเป็นไปอย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น ไทย สุงฯ มีเทคนิคในการปูกระเบื้องให้ออกมาสวยงาม และใช้งานได้ยาวนานมาให้กับทุกคนกัน
ชนิดของปูนที่ใช้ปูกระเบื้อง
ปูนที่ถูกนิยมมาใช้ในการปูกระเบื้องในปัจจุบันนั้นด้วยกัน 2 ชนิดคือ
1.ปูนซีเมนต์
ปูนซีเมนต์จะถูกใช้งานกับการปูแบบซาลาเปา และแบบขี้หนู วิธีใช้งานจะผสมปูนซีเมนต์ กับทราย และน้ำเข้าด้วยกัน การปูกระเบื้องด้วยปูนซีเมนต์เป็นวิธีการที่ใช้มาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีราคาถูก และสามารถหาซื้อวัสดุในการทำได้ทั่วไป แต่การยึดเกาะไม่ดีมากนัก ทำให้กระเบื้องร่อน หรือระเบิดได้ง่าย อีกทั้งยังไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีความชื้นอยู่ เนื่องจากช่องว่างระหว่างที่มีอยู่มากทำให้ความชื้นเข้าไปสะสมตัวอยู่ได้
2.ปูนกาว
ปูนชนิดพิเศษที่ถูกออกแบบมาสำหรับการปูกระเบื้องโดยเฉพาะ รูปแบบคล้ายรู้สำเร็จรูป ประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ ทราย สารเคมี และน้ำ มีราคาแพงกว่าปูนซีเมนต์ แต่สามารถช่วยให้กระเบื้องยึดเกาะกับพื้นได้ดี ทนทาน กันน้ำ และสามารถใช้งานในพื้นที่ที่โดนน้ำเป็นประจำ นิยมใช้กับการปูกระเบื้องแบบเต็มแผ่น
ขั้นตอนการปูกระเบื้อง
สำหรับขั้นตอนในการปูกระเบื้องต้องอาศัยความละเอียดในการปู ควรเลือกช่างกระเบื้องที่มีความชำนาญการ หรือหากต้องการปูกระเบื้องด้วยตัวเองก็ควรศึกษาวิธีการปูพื้นที่ถูกต้อง การปูกระเบื้องผิดวิธีนอกจากจะทำให้งานกระเบื้องออกมาไม่สวยงามแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหากับกระเบื้องภายหลังอีกด้วย กระเบื้องแต่ละแบบจะมีรูปแบบการปูที่คล้ายคลึงกัน สำหรับกระเบื้องตัดจะมีเทคนิคเล็กน้อยเพิ่มเข้ามา เพราะใช้รายละเอียดในการปูมากกว่ากระเบื้องเต็มแผ่น ขั้นตอนการปูกระเบื้องอย่างถูกวิธีมีดังนี้
1.ตรวจความแข็งแรงของพื้น
กระเบื้องที่สวยงาม และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ต้องเริ่มต้นด้วยพื้นที่แข็งแรง ไม่แตก ร้าว หรือยุบ การที่บริเวณสำหรับปูกระเบื้องไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ในอนาคต สำหรับวิธีการตรวจสอบนั้นสามารถทดสอบได้ด้วยสายตาดูว่ามีรอยแตกร้าว รอยย่น ร้อยยุบบนพื้นผิวหรือไม่ การทดสอบด้วยการใช้ค้อนเคาะเบา ๆ หากพื้นมีเสียงก้องให้สันนิษฐานว่าอาจมีรูพรุนอยู่ใต้พื้น วิธีสุดท้ายคือการเทน้ำลงไปบนพื้นโดยพื้นผิวที่แข็งแรงจะไม่มีน้ำซึมลงไป แต่หากน้ำซึมแสดงว่าอาจมีรูพรุน หรือรอยแตกอยู่
2.ปรับระดับ
การปรับระดับนั้นจะช่วยให้กระเบื้องออกมาสวยงาม เป็นแนวเสมอกัน อีกทั้งยังช่วยลดการเกิดกระเบื้องร่อน และน้ำขังได้อีกด้วย ในการปรับระดับพื้นที่ต้องการปรับระดับเล็กน้อยสามารถใช้ปูนปรับระดับ หรือใช้น้ำยาปรับระดับ และปรับระดับด้วยไม้เรียบ หรือไม้ฉาก ก็จะได้พื้นที่เรียบเสมอกัน
3.ทำความสะอาดพื้นผิว
ทำความสะอาดฝุ่นละออง คราบไขมัน คราบสารเคมี และขยะ ในบริเวณที่ต้องการปูกระเบื้อง ซึ่งหาดพื้นสะอาดจะช่วยทำให้กาวซีเมนต์ยึดเกาะกับพื้นผิวได้ดียิ่งขึ้น ใช้ไม้กวาดในการกวาดฝุ่น และขยะออกจากบริเวณ จากนั้นถูพื้น หรือล้างพื้นด้วยน้ำสะอาด สำหรับบริเวณที่มีคราบไขมัน หรือสารเคมีอยู่ให้ใช้น้ำยาถูกพื้นผสมน้ำทำความสะอาด จากนั้นล้างตามด้วยน้ำสะอาด
4.ลองวางกระเบื้อง
เป็นขั้นตอนที่เหมาะสำหรับมือใหม่หัดปู หรือจะเป็นผู้มีประสบการณ์ เพราะการวางรูปแบบของกระเบื้องก่อนทำการปูจริง จะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความเรียบร้อย ปรับแต่งรูปแบบของกระเบื้องได้ตามต้องการ อีกทั้งยังสามารถประมาณปริมาณของกระเบื้องที่จะใช้ได้อีกด้วย สามารถใช้การคำนวณพื้นที่ในการประมาณปริมาณของกระเบื้องที่จะใช้ได้อีกด้วย โดยมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1: หาพื้นที่ที่ต้องการปู
● วัดความกว้าง และความยาวของห้องเป็นเมตร
● นำความกว้างมาคูณกับความยาว จะได้พื้นที่เป็นตารางเมตร
ตัวอย่าง ● ห้องกว้าง 8 เมตร ยาว 9 เมตร
● พื้นที่ห้อง = 8 เมตร x 9 เมตร = 72 ตารางเมตร
ขั้นตอนที่ 2 หาพื้นที่กระเบื้อง 1 แผ่น
● วัดความกว้างและความยาวของกระเบื้องเป็นเมตร
● นำความกว้างมาคูณกับความยาว จะได้พื้นที่ 1 แผ่น เป็นตารางเมตร
ตัวอย่าง
● ใช้กระเบื้องขนาด 60x60 เซนติเมตร
● พื้นที่ 1 แผ่น = 0.6 เมตร x 0.6 เมตร = 0.36 ตารางเมตร
ขั้นตอนที่ 3 หาจำนวนกระเบื้องที่ต้องใช้
● นำพื้นที่ห้องมาหารด้วยพื้นที่กระเบื้อง 1 แผ่น
● บวกเพิ่มเผื่อเศษ 10% ไว้สำหรับกรณีกระเบื้องแตกหรือสูญเสีย
ตัวอย่าง
นำพื้นที่ห้องมาหารด้วยพื้นที่กระเบื้อง 1 แผ่น
● จำนวนกระเบื้องที่ต้องใช้ = 72 ตารางเมตร / 0.36 ตารางเมตร
● จำนวนกระเบื้องที่ต้องใช้ = 200 แผ่น
เผื่อกระเบื้องสำรองไว้ 10%
● จำนวนกระเบื้องสำรอง = 200 แผ่น x 10% = 20 แผ่น
รวมจำนวนกระเบื้องที่ต้องใช้ทั้งหมด
● จำนวนกระเบื้องทั้งหมด = 200 แผ่น + 20 แผ่น
● จำนวนกระเบื้องทั้งหมด = 220 แผ่น
ขั้นตอนที่ 4 หาจำนวนกล่องกระเบื้อง
● ตรวจสอบจำนวนกระเบื้องบรรจุต่อกล่องจากข้อมูลทั่วไป
● นำจำนวนกระเบื้องที่คำนวณได้ หารด้วยจำนวนกระเบื้องบรรจุต่อกล่อง
ตัวอย่าง ● กระเบื้องขนาด 60x60 เซนติเมตร บรรจุ 4 แผ่น/กล่อง
● ต้องการใช้กระเบื้อง 220 แผ่น
● จำนวนกล่อง = 220 แผ่น / 4 แผ่น/กล่อง
● จำนวนกล่อง = 55 กล่อง
หมายเหตุ ● ข้อมูลจำนวนกระเบื้องบรรจุต่อกล่องเป็นข้อมูลทั่วไป อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อ
● ควรเลือกซื้อกระเบื้องเผื่อไว้มากกว่าที่คำนวณไว้เล็กน้อย เผื่อกรณีกระเบื้องเสียหาย หรือต้องการปูเพิ่มในภายหลัง
5.ทากันซึม
วิธีนี้จะช่วยป้องกันการเกิดน้ำรั่วซึม เชื้อรา และคราบสกปรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากสำหรับห้องที่มีการโดนน้ำ และอยู่ในความชื้นตลอดเวลา เช่น ห้องครัว และห้องน้ำ สำหรับการทาน้ำยากันซึมควรทาให้ทั่วบริเวณพื้นผิว 2 รอบ โดยในรอบแรกให้ลงน้ำยาแบบบาง รอ 2-4 ชั่วโมงจนน้ำยาแห้งสนิท แล้วจึงทาน้ำยาทับอีกเป็นครั้งที่สอง จากนั้นรอให้ครบ 24 ชั่วโมง ทำการทดสอบประสิทธิภาพน้ำยากันซึมได้โดยการเทน้ำทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง และให้สังเกตว่ามีน้ำรั่วซึมหรือไม่ ข้อควรระวังในการใช้น้ำยากันซึม คือระวังอย่าให้น้ำยาสัมผัสกับผิวหนัง และดวงตาโดยตรง ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ หน้ากากอนามัย และแว่นตา ในระหว่างการใช้น้ำยากันซึม
6.ผสมปูนกาว
การผสมปูนกาวสามารถดูได้คู่มีการใช้งาน เนื่องจากปูนกาวในท้องตลาดมีอยู่หลากหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีวิธี และสัดส่วนในการผสมแตกต่างกันออกไป เพื่อให้ได้ปูนกาวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดควรทำตามคำแนะนำของปูนกาวชนิดนั้น ๆ อย่างละเอียด สำหรับอุปกรณ์ในการผสมปูนกาว ได้แก่ ถังสำหรับผสม น้ำสะอาด เกรียง และเครื่องผสมไฟฟ้า ( ในกรณีที่ใช้ในปริมาณมาก )
7. ทาปูนกาว
ใช้เกรียงหวีทาปูนกาวในบริเวณที่ต้องการปู ด้วยความหนาที่ 3-5 มิลลิเมตร จากนั้นใช้เกรียงหวีปาดปูนกาวให้อยู่ในระดับที่เสมอกัน
8.ปูกระเบื้อง
วางแผ่นกระเบื้องลงบนปูนกาวโดยเริ่มจากมุมในสุด หรือจุดอ้างอิงเริ่มต้น จากนั้นใช้ค้อนยางเคาะแผ่นกระเบื้องเบา ๆ เพื่อให้กระเบื้องมีระดับที่เสมอกันสามารถใช้ตัวปรับระดับในการปูกระเบื้องเพื่อช่วยให้การปูกระเบื้องง่าย และรวดเร็วขึ้น อีกทั้งงานปูกระเบื้องจะออกมาสวยงาม จากนั้นทิ้งไว้ 24 ชั่วโมงเพื่อรอให้ปูนกาวแข็งตัว
9.ลงยาแนว
ยาแนว มีลักษณะคล้ายกาว ทำหน้าที่เติมเต็มร่องระหว่างกระเบื้อง ช่วยป้องกันน้ำซึม ป้องกันสิ่งสกปรก ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระเบื้อง ไม่ให้กระเบื้องหลุดร่อนง่าย และยังช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับกระเบื้องอีกด้วย การใช้งานยาแนวเริ่มจากการทำความสะอาดร่องกระเบื้อง และทำให้ร่องกระเบื้องแห้งสนิท จากนั้นผสมน้ำกับยาแนวในอัตราส่วนตามที่ระบุในคู่มือการใช้งาน ใช้เกรียงปาดยาแนวลงไปให้เต็มร่องกระเบื้อง ทิ้งไว้ 30 นาที แล้วทำการเช็ดคราบยาแนวที่เกาะอยู่ออก จากนั้นทิ้งไว้ 72 ชั่วโมงก็พร้อมใช้งาน
เทคนิคในการปูกระเบื้องตัด
กระเบื้องตัด คือกระเบื้องที่ถูกตัดเพื่อเปลี่ยนรูป หรือขนาด ในการปูกระเบื้องตัดนั้นจะต้องอาศัยรายละเอียดที่มากกว่าการปูกระเบื้องเต็มแผ่น โดยสามารถดูได้จาก
1.ขอบของกระเบื้องจะมีฝั่งขอบกระเบื้องจากโรงงานที่ไม่ได้ถูกตัดออก ต้องปูส่วนนี้ชิดติดกันเสมอ

2.สำหรับกระเบื้องตัดที่มีขอบตัดทั้งสองด้าน ควรปูติดกับขอบตัดของกระเบื้องอีกแผ่น
เป็นเคล็ดลับในการลดการปูกระเบื้องผิดพลาด และลดการเกิดกระเบื้องไม่เสมอกัน

3.สำหรับกระเบื้องส่วนปิดท้าย ควรใช้ส่วนขอบจากโรงงานในการปิดพื้นที่
สำหรับส่วนนี้สามารถใช้ตัวคัดร่อง และตัวปรับระดับกระเบื้องเข้ามาช่วย เพื่อให้การปูกระเบื้องง่ายยิ่งขึ้น และที่สำคัญบังช่วยให้กระเบื้องที่ปูออกมาเรียบเสมอกันอีกด้วย

การปูกระเบื้องให้ออกมาสวยงาม และใช้งานได้ยาวนานนั้นไม่ได้ยากเกินความสามารถของใครหลาย ๆ คน แต่ต้องอาศัยเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมไปถึงการใส่ใจในรายละเอียดต่าง ๆ อย่างครบถ้วนตั้งแต่การตรวจเช็กคุณภาพของพื้นที่ของบริเวณที่ต้องการปูกระเบื้อง การปรับผิวให้เสมอกัน การทำความสะอาด ไปจนถึงการเลือกกาวซีเมนต์ กาวยาแนวที่มีคุณภาพ และการใช้ตัวปรับระดับกระเบื้องเข้ามาช่วยในการทำงาน ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยทำให้กระเบื้องติดทนกับพื้น และใช้งานได้ยาวนาน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการเลือกกระเบื้องจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และมีคุณภาพ ที่ไทย สุงฯ เรามีกระเบื้องคุณภาพพรีเมียมจำหน่าย มีให้เลือกหลากหลายมากกว่า 2,000 รายการ สนใจข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ของ ไทย สุงฯ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมตามลิงค์ข้างล่างนี้